The Kingdom of Thailand

The Kingdom of ThailandThe Kingdom of Thailand
Thailand, also called the Land of Smiles, is the most popular tourist destination in South-East Asia due to its wealth of natural beauty, culture and history, gorgeous islands and beaches and the mouth-watering food. In the North you will find breathtaking mountain ranges with waterfalls and fast flowing rivers for trekking and rafting, ethnic tribal groups with unique customs and clothing and people famous for their courtesy and hospitality. The North-East, or Isan, is one of the country’s most intriguing destination with many Stone Age and Bronze Age dwellings and artifacts, and several significant temples and national parks. The Central plains and the East Coast are dotted with national parks, seaside resorts and islands.

Tuesday, February 8, 2011

อุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/101991.jpg


 ข้อมูลทั่วไป

อุทยานแห่งชาติปิดการท่องเที่ยวและพักแรมเฉพาะบริเวณบ้านกร่างและเขาพะเนินทุ่ง ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี และมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 1,821,687.84 ไร่ หรือ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา : เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังไกล กังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จที่เขื่อนแก่งกระจาน ได้รับสั่งให้นายถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522 ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า “เรื่องป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้ เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น” จากพระราชดำรัสดังกล่าวประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 452/2523 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2523 ให้นายสามารถ ม่วงไหมทอง นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารแม่น้ำเพชรบุรีเหนือเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานการสำรวจ ด่วนที่สุด ที่ กส 0708/จช. 67 ลงวันที่ 15 เมษายน 2523 รายงานว่า บริเวณป่าดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี เป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงาม ประกอบด้วยน้ำตก ถ้ำ หน้าผา ทะเลสาบ พันธุ์ไม้มีค่านานาชนิด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าต่างๆ เช่น เลียงผา วัวแดง กระทิง นก ปลาต่างๆ และช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาความรู้ด้านต่างๆ ทั้งเป็นการรักษาสภาพป่าให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติถาวรสืบไปดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/101992.jpg


กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณพื้นที่ป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ในท้องที่ตำบล น้ำกลัดเหนือ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และตำบลสองพี่น้อง ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ครอบคลุมเนื้อที่ 1,548,750 ไร่ หรือ 2,478 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 92 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 28 ของประเทศ

ต่อมาคณะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 ตุลาคม 2525 ถึงนายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้อนุรักษ์ป่าห้วยแร่ห้วยไคร้ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย กรมป่าไม้ จึงให้ นายสามารถ ม่วงไหมทอง ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายรุ่งโรจน์ อังกุรทิพากร เจ้าพนักงานป่าไม้ 2 สำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ปรากฏว่า ในบริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าสมบูรณ์ ดี มีทิวทัศน์สวยงาม มีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา ลานหิน และมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0713(กจ) /78 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2526 เห็นควรให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานออกไปครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว 

กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ต่อมาได้มีมติการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 ให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่ายาง น้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ ในท้องที่ตำบลแก่งกระจาน ตำบลสองพี่น้อง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมเนื้อที่ 273,125 ไร่ หรือ 437.00 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 194 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2527 รวมเนื้อที่ 1,821,875 ไร่ หรือ 2,915 ตารางกิโลเมตร

ต่อมากองบัญชาการทหารสูงสุด และจังหวัดเพชรบุรี ได้ขอเพิกถอนพื้นที่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เพรียง เนื้อที่ 28 ไร่ 2 งาน และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง เนื้อที่ 158 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ บางส่วนในท้องที่ตำบลห้วยแม่เพรียง และตำบลป่าเต็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 187.16 ไร่ หรือ 0.30 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 64 ก ลงวันที่ 24 กันยายน 2541 ทำให้ในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคงเหลือพื้นที่ 1,821,687.84 ไร่ หรือ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร


http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/101993.jpg


 ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นดินและส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่เป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า ยอดสูงสุดได้แก่ เขางะงันนิกยวกตอง สูงประมาณ 1,513 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเฉลี่ยสูงประมาณ 500 เมตร ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินแกรนิต บางแห่งเป็นเขาหินปูน ในหลายแห่งอุดมไปด้วยแร่ฟลูออไรน์ ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี ลำห้วยสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งก ระจานได้แก่ ห้วยประโดน ห้วยบางกลอย ห้วยแม่เสลียง ห้วยหินเพิง ห้วยสาริกา ห้วยฝาก ห้วยไผ่ และห้วยสามเขา ลำห้วยที่สำคัญของแม่น้ำปราณบุรีในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ห้วยคมกฤช ห้วยโสก แม่น้ำสัตว์ใหญ่ ห้วยป่าแดง และห้วยป่าเลา

 ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น จึงทำให้มีความชื้นสูง ส่วนใหญ่จะมีฝนตกชุก จึงมีอากาศเย็นสบายตลอดปี ไม่ร้อนอบอ้าว ปริมาณน้ำฝนรวมรายปีระหว่าง 986-1,140 มิลลิเมตร 

ซึ่งในช่วงฤดูฝน การท่องเที่ยวและพักแรมในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่สะดวกในการเดินทางไปท่องเที่ยว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสูง และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว จึงมีกำหนดปิดการท่องเที่ยวและพักแรม เฉพาะบริเวณบ้านกร่างและเขาพะเนินทุ่ง ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว


http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/101994.jpg


 พืชพรรณและสัตว์ป่า

สังคมพืชหลักในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้แก่ระบบนิเวศของป่าไม้ ซึ่งปกคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติถึงร้อยละ 85.64 ประกอบด้วยชนิดป่าที่สำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ 

ป่าดงดิบชื้น พบขึ้นอยู่เป็นบริเวณกว้างในระดับความสูงประมาณ 400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ กระลอขน ตะแบก เสลา มะค่าโมง เขม่าสาย ยางโอน เสม็ดฟอง พญารากดำ มะกอกแบน นกน้อย ผมหอม ตาเสือ เสม็ดเขา หนามขี้แรด ชมพูป่า ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างโดยทั่วไปเป็นลูกไม้ กล้าไม้ ของไม้ชั้นบน รวมทั้งไม้เถา เช่น เถากระไดลิง เป็นต้น 

ป่าดงดิบแล้ง พบขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะตามที่ลุ่มริมฝั่งน้ำในหุบเขา ไหล่เขา และที่ราบต่ำระหว่างภูเขา ที่ระดับความสูงประมาณ 400-500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ดำดง สมอ จัน ข่อยหนาม กระเบากลัก หมากเล็กหมากน้อย ถอบแถบ ดีหมี กระเบากลัก กระชิด หงอนไก่ดง ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างโดยทั่วไปเป็นลูกไม้ กล้าไม้ ของไม้ชั้นบน รวมทั้งไม้เถา เช่น กำลังหนุมาน สะแกวัลย์ หวายลิง เป็นต้น 

ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่ทางตอนกลางและส่วนเหนือของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตีนนก แดง ตะคร้ำ มะกอก ประดู่ ตะแบก อ้อยช้าง ตะโก ตีนเป็ด งิ้วป่า โมกมัน ติ้ว ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างโดยทั่วไปเป็นลูกไม้ กล้าไม้ ของไม้ชั้นบน รวมทั้งไผ่ หญ้าคา หญ้าปล้อง และไม้เถา เป็นต้น 

ป่าเต็งรัง พบขึ้นอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติในระดับความสูง 200-400 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง พลวง พะยอม ประดู่ ตะแบก เปล้าหลวง แดง ฯลฯ สำหรับพืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้า ลูกไม้ของไม้ชั้นบน และไม้เถา เป็นต้น 


http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/101995.jpg


เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งเชื่อมต่อกับเทือกเขาภูเก็ตของภาคใต้และตอนเหนือเข้าไปในประเทศพม่า สัตว์ป่าจากประเทศอินเดียและพม่าจะแพร่กระจายลงมาทางทิศตะวันตกของประเทศลงมาถึงบริเวณนี้ และพวกสัตว์ป่าจากประเทศมาเลเซียก็จะแพร่กระจายขึ้นมาตามเทือกเขาภูเก็ตมาถึงบริเวณนี้เช่นเดียวกัน ทำให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ ป่าทั้งจากทิศเหนือและทิศใต้ ชนิดของสัตว์ป่าที่สำคัญได้แก่ ช้างป่า หมีหมา หมาไน หมาจิ้งจอก เสือดาว เสือโคร่ง เลียงผา สมเสร็จ วัวแดง กวางป่า เก้งหม้อ ชะนีมือขาว ลิงเสน นกกระสาคอขาว เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา นกเค้าหน้าผากขาว กบทูด ปาดยักษ์ เต่าหก จิ้งเหลนภูเขาสีจาง เป็นต้น นอกจากนี้ในบริเวณลำธารและอ่างเก็บน้ำ สำรวจพบปลาน้ำจืดอาศัยอยู่หลาย ชนิด เช่น ปลานางอ้าว ปลาซิวใบไผ่ ปลาขี้ยอก ปลากระสูบขีด ปลากดเหลือง ปลาดุกด้าน ปลากระทุงเหว ปลาหมอช้างเหยียบ ปละกระสง และปลากระทิง ฯลฯ 


http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/101996.jpg


 การเดินทาง    
     
รถยนต์
     จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี เข้าสู่เขตจังหวัดเพชรบุรี หรือจะเดินทางไปตามถนนพระราม 2 (ถนนธนบุรี - ปากท่อ) ถึงสามแยกวังมะนาวให้เลี้ยวซ้าย ก็จะเข้าสู่เขตจังหวัดเพชรบุรีเช่นกัน จากนั้นมีหลายเส้นทางที่ไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ดังนี้ 

1. เข้าทางอำเภอหนองหญ้าปล้อง ไปตามทางหลวงหมายเลข 3349 ถึงเส้นทางระหว่างอำเภอท่ายาง - อำเภอแก่งกระจาน ให้เลี้ยวชวา เดินทางต่อไปจนผ่านที่ทำการอำเภอแก่งกระจาน เข้าสู่บริเวณเขตเขื่อนแก่งกระจานเลียบตามถนนลาดยางขอบอ่าง จากตัวเขื่อนอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เส้นทางนี้ถนนบางช่วงยังเป็นถนนลูกรัง ยังอยู่ระหว่างการทำถนน

2. เข้าทางสี่แยกเขาตะเครา (ก่อนเข้าตัวเมืองเพชรบุรี) ไปตามทางหลวงหมายเลข 3204 ถึงเส้นทางระหว่างอำเภอท่ายาง - อำเภอแก่งกระจาน ให้เลี้ยวชวา เดินทางต่อไปจนผ่านที่ทำการอำเภอแก่งกระจาน เข้าสู่บริเวณเขตเขื่อนแก่งกระจานเลียบตามถนนลาดยางขอบอ่าง จากตัวเขื่อนอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

3. เข้าทางอำเภอท่ายาง เมื่อเดินทางถึงสี่แยกเขื่อนเพชร ให้เลี้ยวขวาเข้าไปตามเส้นทางระหว่างอำเภอท่ายาง - อำเภอแก่งกระจาน เดินทางต่อไปจนผ่านที่ทำการอำเภอแก่งกระจาน เข้าสู่บริเวณเขตเขื่อนแก่งกระจานเลียบตามถนนลาดยางขอบอ่าง จากตัวเขื่อนอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

รถโดยสารประจำทาง
     จากกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถโดยสารสายกรุงเทพฯ-ท่ายาง ถึงอำเภอท่ายาง เดินทางต่อโดยรถสองแถวสายท่ายาง-แก่งกระจาน ถึงบ้านแก่งกระจาน จากนั้นต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างหรือรถยนต์จ้างเหมาอีก 4 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน


http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/101997.JPG


 สถานที่ติดต่อ

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ต.แก่งกระจาน  อ.แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี   76170
โทรศัพท์ 0 3246 7326, 08 6166 2991, 0 3245 9293   โทรสาร 0 3245 9291   อีเมล k.krachan_np@hotmail.com


http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/101998.jpg


http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/101999.JPG


http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/102000.jpg


http://variety.teenee.com/foodforbrain/img5/102001.jpg



ขอขอบคุณเจ้าของภาพ เจ้าของบทความดีๆนี้ และผู้อ่านทุกท่านค่ะ