The Kingdom of Thailand

The Kingdom of ThailandThe Kingdom of Thailand
Thailand, also called the Land of Smiles, is the most popular tourist destination in South-East Asia due to its wealth of natural beauty, culture and history, gorgeous islands and beaches and the mouth-watering food. In the North you will find breathtaking mountain ranges with waterfalls and fast flowing rivers for trekking and rafting, ethnic tribal groups with unique customs and clothing and people famous for their courtesy and hospitality. The North-East, or Isan, is one of the country’s most intriguing destination with many Stone Age and Bronze Age dwellings and artifacts, and several significant temples and national parks. The Central plains and the East Coast are dotted with national parks, seaside resorts and islands.

Tuesday, April 12, 2011

คลื่นใต้น้ำ (RIP Current) ภัยใกล้ตัวที่อยากให้อ่านค่ะ

เมื่อน้ำตื้นแค่เข่าก็ทำให้คุณตายได้ rip current / คลื่นใต้น้ำ... ภัยใกล้ตัวที่อยากให้อ่านค่ะ



บ่อยครั้งที่มีข่าวนักท่องเที่ยว นักศึกษา ที่เสียชีวิตจากการถูกคลื่นใต้น้ำดูดลงไปและจมน้ำตาย ทั้งๆอยู่ห่างจากหาดแค่ไม่กี่เมตรและน้ำก็ยังตื้นๆยืนถึงอยู่เลย ในประเทศเรามีหลายที่..ที่มีคลื่นใต้น้ำ ที่ที่มีคนตายบ่อยๆก็อย่างเช่น หาดแม่รำพึง ที่ต้องมีคนตายทุกๆปี
rip current แบบน้ำเรียบบนผิวน้ำ (fixed rip)

rip current แบบเห็นเป็นคลื่น ทรงแหลมๆ หรือ เกลียวๆดูดออกไปจากฝั่ง (Flash rip)



ขอเริ่มจากแนะนำตัวคุณคลื่นใต้น้ำก่อน หรือ เรียกอีกชื่อว่า ว่า rip current หรือ riptide มีสี่ประเภทหลักๆคือ fixed rip, permanent rip, temporary rip(flash rip) และ traveling rip

1. Fixed Rip
เกิดมาจากหลายสาเหตุตามธรรมชาติ เช่น การมีแอ่งทรายใต้น้ำจากการยุบตัวของพื้นดินส่วนนั้น หรือ เคยมีคลื่นบางลูกที่แรงมากจนซัดทรายให้เป็นแอ่ง และทำให้น้ำที่พัดเข้าฝั่งมาไหลกลับทะเลที่จุดที่พื้นทรายอยู่ต่ำที่สุด  กรณีนี้มักเกิดได้รวดเร็ว คืออาจจะหลายชั่วโมงหรือเป็นวันในการฟอร์มตัว และหายไปได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วันหรือหลายเดือน แต่ซักพักก็มักเกิดซ้ำที่เดิมอีก เพราะแค่การเปลี่ยนแปลงบนผิวทรายก็ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ rip current ขึ้นมา กรณีนี้ที่เกิดในบ้านเรา อย่างเช่นที่หาดรำพึง เห็นหาดนิ่งๆ สงบๆแบบนี้ ตายมาหลายรายแล้ว เพราะจุดเด่นของคลื่นแบบนี้ ผิวน้ำจะดูราบเรียบ ไม่มีฟองคลื่น (แต่ที่หาดรำพึง และหาดทางภาคใต้ ไม่ได้มีแค่แบบนี้นะคะ ลองเลื่อนลงไปข้างล่าง เดี๋ยวจะมีประเภทที่เกิดบ่อย อย่างที่เรียกว่า flash rip อีก)

อันนี้เป็นภาพคลื่นใต้น้ำ ที่หาดหนึ่งในออสเตรเลีย ทะเลตรงส่วนกลางที่ไม่มีคลื่น เห็นเป็นแถบน้ำย้อนออกไป ดูราบเรียบนั่นแหละที่เรียกว่า fixed rip



เครดิตภาพหาดรำพึงจากคุณ kz pantip

2. Permanent Rip
เกิดจากมีสิ่งกีดขวางบางอย่างใต้ทะเล หรือสิ่งปลูกสร้าง ที่คนสร้างขึ้น เช่น โขดหิน รีสอร์ตตามหาด ทำให้จำกัดการไหลกลับของน้ำให้อยู่ตำแหน่งหนึ่ง โดยจะเป็นตำแหน่งตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลง คลื่นใต้น้ำประเภทนี้มักจะมีอยู่บริเวณหัวหรือท้ายหาด หรือหาดบริเวณที่ติดกับแหลมที่ยื่นไปในทะเล เพราะแหล่งเหล่านี้มักมีหินอยู่ที่พื้น และทำให้น้ำไหลกลับไม่สะดวก จนเกิดแนวสันทรายใต้น้ำ คนที่ระวังๆเค้าจึงเตือนลูกหลานว่า อย่าไปว่ายน้ำใกล้โขดหินโดยเด็ดขาด เพราะจะโดนคลื่นซัดจมน้ำตาย นั่นก็เพราะตามหาดที่มีแหล่งโขดหินมักมีคลื่นใต้น้ำประเภทนี้อยู่เสมอ
ดูภาพในวงกลมสีน้ำตาล



สิ่งปลูกสร้างจากมนุษย์ ที่ทำให้เกิดการไหลที่ผิดปกติของคลื่น และเกิดคลื่นใต้น้ำในที่สุด

3. Temporary Rip / Flash Rip

อันนี้น่ากลัวมากที่สุด เพราะเกิดแบบฉับพลันมากๆ แม้กระทั่งตอนที่ทะเลปกติ ไม่ได้มีพายุ และตอนมีพายุก็จะรุนแรงน่ากลัวเข้าไปอีก คลื่นแบบนี้เกิดจากการม้วนตัวของคลื่นบางลูกที่อาจจะเร็ว หรือแรง หรือมีทิศทางที่ผิดปกติ แล้วแตกออกมาเป็นคลื่นใต้น้ำ แบบว่าเห็นแว้บๆก็หายไปแล้ว เรียกได้ว่า ว่ายน้ำอยู่ดีๆก็โดนกวาดลงทะเลเลย คนตายด้วยคลื่นแบบนี้บ่อยมากเช่นกัน (เกิดบ่อยๆในบ้านเรา) เพราะว่าจะมาในตำแหน่งที่คาดเดาไม่ได้ และไม่ได้เกิดซ้ำตำแหน่งเดิมเหมือน fixed rip  และนอกจากจะเกิดเวลาปกติแล้ว มักจะเกิดเวลาทะเลปั่นป่วน พายุมา หรือบริเวณหาดที่มีคลื่นแรงๆ  แต่ที่บอกว่าน่ากลัวที่สุดเพราะว่าขนาดคลื่นใต้น้ำจะใหญ่มากและยาวลึกลงไปในทะเล หลายๆคนที่จมน้ำทะเลตอนมีพายุ บางทีไม่ใช่แค่คลื่นลมแรง หรือว่ายไม่ไหว แต่เพราะคลื่นใต้น้ำจะใหญ่และจะมาพร้อมกับพายุใหญ่ๆด้วยเกือบทุกครั้ง  ดังนั้นการเล่นน้ำทะเลช่วงมีพายุจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุด เพราะคลื่นใต้น้ำแบบฉับพลัน และขนาดมหึมาอาจเกิดได้ทันทีแม้ในตำแหน่งที่เรามั่นใจว่าปลอดภัย
หน้าตาของ Flash rip จะไม่เหมือนกับ fixed rip อันแรก เพราะตำแหน่งที่มี fixed rip จะมีหน้าผิวน้ำราบเรียบ ในขณะที่แฟลชริพนี้ จะเป็นเกลียวน้ำม้วนออกจากตัวฝั่งเลย เห็นเป็นเกลียวคลื่นน้ำออกจากแนวสันคลื่นปกติ

ภาพด้านล่างนี้เป็นคลื่นใต้น้ำแบบแฟลชริพที่ใหญ่ม๊ากกก (อันที่เกิดในบ้านเราส่วนมากไม่ใหญ่ขนาดนี้นะคะอันนี้น่ากัวเกิ๊นนน)

ที่เกิดบ้านเราจะอันประมาณนี้ค่ะ เกิดบ่อยเหมือนกัน

4. Traveling Rip

อันนี้เกิดจากคลื่นพัดน้ำมาซัดฝั่งซ้ำๆ เป็นรอยเดิมๆ ก็จะเกิดแนวทรายตามรอยคลื่น จนเกิดแอ่งทรายที่ให้น้ำไหลกลับลงทะเล หน้ากว้างของคลื่นจะยาว ถึงจะดูไม่รุนแรงมาก แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะนานๆเข้าทรายบางส่วนเริ่มลึก วันดีคืนดีก็พัฒนาขึ้นมา เป็น fixed rip ได้

ตามรูปคือแนวคลื่นที่พัดมาที่เดิมแบบซ้ำๆเป็นหยักๆแบบเดิม ซักพักก็จะกลายเป็นร่องทรายใต้น้ำ จนเป็นคลื่นใต้น้ำใหญ่ๆ



หลังจากที่ได้อธิบายเกี่ยวกับคลื่นใต้น้ำอย่างละเอียดแล้ว ก็ขอแก้ข้อเข้าใจผิดบางประการ เพื่อทุกคนจะได้ระวังตัวได้ถูกต้องยิ่งขึ้นนะคะ


ข้อเข้าใจผิดประการแรก
-คนทั่วไปมักเข้าใจว่าคลื่นใต้น้ำมักจะเกิดเวลาคลื่นลมแรง
หลายคนจึงชอบบอกว่ามักเกิดกับพวกที่ชอบลงไปเล่นน้ำในทะเลทั้งที่มีคลื่นลมแรงๆ แต่ในความจริงนั้นไม่จำเป็นเสมอไป และเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง

ความจริงแล้ว คลื่นใต้น้ำนั้นสามารถเกิดเวลาใดก็ได้ แม้เวลาทะเลสงบเงียบก็ตาม โดยเฉพาะบริเวณใดที่มีคลื่นใต้น้ำแบบผิวเรียบ บริเวณทะเลตรงส่วนนั้นจะดูคลื่นน้อยและเงียบสงบว่าบริเวณรอบๆ อย่างในคลิปเองนั้นก็ได้อธิบายว่า ตรงส่วนที่มีคลื่นใต้น้ำจะดูเหมือนเป็นทะเลส่วนที่ดูน่าเล่นน้ำมากที่สุดเพราะดูเหมือนคลื่นไม่แรง หลายชีวิตที่ต้องตายไปเพราะพลาดการสังเกตในจุดนี้


ข้อเข้าใจผิดประการที่สอง
-หลายคนยังเข้าใจว่า หากบริเวณใดปักป้ายว่ามีคลื่นใต้น้ำ..ก็ห้ามเล่น ในขณะที่ตรงอื่นที่ไม่มีป้ายนั้นจะปลอดภัยหมด

อันนี้ก็เป็นความเข้าใจที่ผิดเช่นกัน จากที่ได้อธิบายไปข้างต้นว่า มีคลื่นใต้น้ำบางแบบที่จะเกิดจากการยุบตัวของพื้นทรายอย่างฉับพลัน บางครั้งอาจจะเกิดเพียงแค่ไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น และคลื่นใต้น้ำบริเวณนั้นก็จะหายไป

หรือที่น่ากลัวกว่าอย่าง Flash rip ที่บางทีแล้วมาแว้บๆไม่กี่นาทีก็หายไป แค่นี้ก็ดูดคนลงทะเลลงไปได้แล้ว และเกิดในตำแหน่งที่คาดเดาไม่ได้ เพราะเกิดจากตัวคลื่นเป็นหลัก
บางครั้งที่มีนักท่องเที่ยวเล่นน้ำทะเลตรงที่ไม่น่าจะอันตราย แต่จู่ๆก็จมน้ำไปเฉยๆ พอหาศพเจอ ก็ไม่รู้ว่าจมไปเพราะอะไร เพราะคลื่นใต้น้ำบริเวณนั้นได้สลายไปแล้ว
บางคนถึงเคยเจอประเภทที่เดินเล่นอยู่ในบริเวณที่ปกติจะมีน้ำในระดับเข่าอยู่ดีๆ แต่วันดีคืนดีน้ำแค่เข่าก็ยุบฮวบกลายเป็นน้ำเกือบมิดหัว แล้วก็รู้สึกเหมือนถูกดูดออกจากฝั่ง


ข้อเข้าใจผิดประการที่สาม
-คลื่นจะดูดลงใต้น้ำ

จากคลิปด้านล่างนี้ได้อธิบายแล้วว่าคลื่นใต้น้ำไม่ได้ดูดคนลงใต้น้ำ แต่คนส่วนมากที่จมน้ำและรู้สึกเหมือนถูกดูดลงใต้น้ำเพราะตกใจ แล้วไม่ยอมพยุงตัวให้ลอยขึ้นมา แต่กลับพยายามว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อกลับเข้าฝั่ง ยิ่งว่ายจะยิ่งหมดแรง พอเริ่มล้าจะยิ่งกลัว และจะยิ่งจม เลยรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังโดนดูดลงไปใต้น้ำ

ซึ่งเค้าได้บอกแล้วว่า อย่าพยายามให้เหนื่อยเลยเพราะว่าบ่อยครั้งคลื่นพวกนี้เร็วและแรงมาก นักกีฬาโอลิมปิกยังอาจจะว่ายทวนกระแสไม่ไหวเลย ดังนั้นถ้ารู้สึกว่าถูกซัดออกจากฝั่ง ให้พยายามลอยตัว ตั้งสติ แล้วปล่อยให้มันพัดออกไปก่อน แล้วค่อยว่ายไปด้านข้างๆ เป็นแนวที่ขนานกับหาด เพื่อให้พ้นแนวคลื่นใต้น้ำ โดยเล็งไปยังตำแหน่งที่มีฟองคลื่นขาวๆ จากนั้นค่อยว่ายน้ำเข้าฝั่ง แล้วคลื่นจะช่วยพัดเข้าฝั่งเอง



ดูในคลิปและเลื่อนไปที่เวลา 1.11 เป็นต้นไป อธิบายได้ดีมากเลยค่ะ
ที่เค้าได้ทำการแสดงตำแหน่งของคลื่นใต้น้ำด้วยสี โดยเทสีม่วง (สารที่ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ) ลงไปในทะเล



เพื่อแสดงให้เห็นว่าจะมีทะเลอยู่ส่วนหนึ่งที่จะดูดสีม่วงออกไปจากฝั่ง และนั่นเองคือบริเวณที่ข้างใต้กำลังมีคลื่นใต้น้ำแบบที่เรียกว่า fixed rip
และสิ่งที่สังเกตได้จากบนผิวน้ำก็คือ ตรงทะเลส่วนนั้นจะไม่มีฟองคลื่นขาวๆเหมือนส่วนข้างๆ จะเป็นทะเลส่วนที่น้ำนิ่งคลื่นเบากว่าส่วนอื่น ซึ่งหากเราไม่มีความรู้เรื่องคลื่นใต้น้ำแล้ว เราอาจจะโผเข้าหาทะเลส่วนนี้เพราะตรงที่มี fixed rip จะดูคลื่นเบากว่าส่วนอื่น ซึ่งจะเป็นภัยเงียบที่เราไม่รู้ตัวเลย



และเมื่อเราเจอคลื่นใต้น้ำเราควรทำอย่างไร ?




1. ถ้าน้ำพัดออกฝั่ง อย่าตกใจ อย่าตื่นตระหนก และอย่าพยายามว่ายสวนกระแสน้ำ เพราะที่ตายๆกันส่วนใหญ่ เนื่องจากตกใจจนพยายามตะกายว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อกลับฝั่ง

2. ให้ลอยตัวปล่อยให้น้ำพัดเราออกไป อย่าว่ายทวนกระแสน้ำมาเข้าฝั่ง (ถ้าอยู่เมืองนอกพอลอยตัวได้ ก็ปล่อยให้น้ำพัดออกไปและชูมือสูงๆไว้ เดี๋ยวจะได้มี lifeguard ไปช่วย แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่ไม่มี lifeguard ก็คงต้องทำตามข้อถัดไป)

3. พอพ้นส่วนคลื่นใต้น้ำแล้ว จะเริ่มรู้สึกว่าไม่มีแรงดูดออกไปในทะเลแล้ว ให้ว่ายเป็นแนวขนานกับฝั่ง

4. ถ้าไม่รู้ว่าจะว่ายไปซ้ายหรือขวาดี ก็ให้ว่ายออกด้านข้างไปหาฟองคลื่นขาวๆ เพราะตำแหน่งที่มีฟองคลื่นขาวๆ คือตำแหน่งที่น้ำเริ่มตื้น และเป็นบริเวณที่น้ำกำลังถูกพัดเข้าฝั่ง

5. พอรู้สึกได้ว่าพ้นแนวคลื่นใต้น้ำแล้ว ก็ให้ว่ายกลับเข้าฝั่งแล้วคลื่นจะช่วยดันเราเข้าฝั่งเอง

ข้อควรระวัง คือ หากพาเด็กไปเล่นน้ำทะเล หรือ ใครที่ว่ายน้ำไม่เป็นหรือไม่แข็ง เพื่อความปลอดภัยให้ใส่ชูชีพไว้ก่อนจะดีกว่า (ดีกว่าห่วงยางนะคะ เพราะเคสที่ห่วงยางหลุดตอนเจอคลื่นใต้น้ำก็มีมาแล้ว) ควรใส่ชูชีพไว้ เพราะการครองสติลอยตัวในน้ำตอนภาวะตกใจเป็นอะไรที่ยากมากๆ ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าค่ะ

และข้อควรระวังอีกอย่างคือ หาดบางที่แม้จะตื้นมากๆๆ แบบน้ำแค่เข่า ก็มีคลื่นใต้น้ำที่ดึงเราลงทะเลไปได้เช่นกัน เพราะการวางตัวของคลื่นบางลูกจะเป็นแนวขวางแบบในรูป อันซ้ายค่ะ



ตัวอย่างคลื่นที่วางตัวขวาง มาถึงตรงน้ำตื้นๆไม่ถึงเข่าด้วยซ้ำ



คลื่นใต้น้ำนั้นมีอยู่ทุกประเทศที่มีทะเลค่ะ
ประเทศเราก็มีเกือบทุกแห่ง บางที่เบามากจนเราไม่รู้สึกเราก็เลยเข้าใจว่าตรงนั้นไม่มีคลื่นใต้น้ำ แต่จริงๆจะรู้สึกได้เวลาลงเล่นทะเล ที่บางทีคลื่นบางลูกดูเหมือนจะดูดเราออกไปนิดนึง บางทีแค่ทำเอาเราล้มเสียหลักเฉยๆทั้งที่จริงๆไม่น่าจะล้ม อันนี้ก็ไม่อันตรายเกิดทั่วๆไป แต่หากเจอแบบเต็มรูปแบบก็จะต้องโดนดูดออกจากฝั่งไปหลายเมตร งัยก็ต้องตั้งสติและทำตามวิธีข้างต้น

คลื่นใต้น้ำเป็นเรื่องที่ทุกวันนี้ควรต้องระวังให้มากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกที่ปัจจุบันเกิดขึ้นบ่อย และการสร้างสิ่งปลูกสร้างริมน้ำริมหาดที่มากขึ้น ตลอดจนการทำเหมืองดูดแร่ใต้ดิน สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการยุบตัวของแผ่นดินได้อย่างฉับพลัน และเกิดคลื่นที่ผิดปกติได้บ่อยๆ และก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำในบริเวณที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้

แต่..ไม่ต้องกลัวหรือระแวงจนไม่กล้าเล่นน้ำกันนะคะ เพราะทะเลประเทศเราปลอดภัยกว่าประเทศที่เป็นเกาะ หรือหลายๆประเทศที่ติดทะเลค่ะ แต่เพียงแค่เราก็ต้องไม่ประมาท เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

เอาเป็นว่าขอให้ทุกท่านเที่ยวทะเลกันสนุกๆ แต่ก็ขอให้รอบคอบและไม่ประมาทนะคะ และหากเกิดอันตรายขึ้นก็มีสติเข้าไว้ จะได้หาทางแก้ได้ ขอให้ปลอดภัยกันถ้วนหน้าค่ะ ^^

ขอขอบคุณบทความดีๆนี้จากคุณ PO - SBN Town ค่ะ